The Girl on the Train :: ปมหลอน รางมรณะ

ฉันตีตั๋วเข้าไปดูหนังเรื่อง The Girl on the Train (ปมหลอน รางมรณะ) ในฐานะที่เคยอ่านนวนิยายมาก่อน นัยว่าไปจับผิดหรือดูเพื่อเปรียบเทียบ อยากรู้ว่าหนังจะทำออกมาแบบไหน ซึ่งก็ทำออกมาได้ดีกว่าที่คิด จริงๆมันก็เทียบนวนิยายไม่ได้หรอก เพราะมีจุดบอดหลายฉาก แต่ก็หยวนได้ หลายคนเอาไปเปรียบกับ Gone Girl ส่วนตัวคิดว่าพล็อตและรายละเอียดหนังสองเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน ยิ่งตอนจบนี่คือคนละเรื่อง จึงไม่อยากเปรียบเทียบ

The girl on the train เริ่มเรื่องบนรถไฟผ่านสายตาของนางเอก ก่อนจะพูดเรื่องการหายตัวไปของตัวละครหลัก จนวันหนึ่งพบว่าเป็นศพเพราะน้ำมือของชายที่เธอ “รัก” ส่วน Gone Girl คือการสร้างเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่ป้ายสีให้ชายที่เธอ “เคยรัก” แต่ตอนจบไม่มีศพใครให้พูดถึง, ซับซ้อนกันคนละแบบ – – แต่สารที่หนังสื่อคล้ายกันคือ คนใกล้ตัวน่ากลัวที่สุด

เอมิลี่ บลันท์ แบกหนังไว้แทบทั้งเรื่อง เธอถ่ายทอดบทบาทของ “เรเชล” หญิงหม้ายที่ล้มเหลวจากชีวิตคู่ กู่ไม่กลับเพราะพิษรักและพิษเหล้าในนวนิยายออกมาได้ไร้ที่ติ ติหน่อยเดียวคือขนาดโทรมก็ยังสวย เพราะเรเชลในนวนิยายเป็นเพียงผู้หญิงที่ “เคยสวย” ส่วนรีเบกก้า เฟอร์กูสัน ก็สะท้อนความโรคจิตและใจแคบของ “แอนนา” เมียใหม่ของผัวเก่าของเรเชล (ไม่งงเนาะ 555) ได้น่าหมั่นไส้ ด้านเฮลีย์ เบนเน็ตต์ในบทของ “เมแกน” ผู้หญิงที่นิยามตัวเองว่าเป็นทั้งเมีย พี่เลี้ยงเด็ก และหญิงร่าน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของเรื่องก็สวยเซ็กซี่ยั่วยวนใจตรงตามนวนิยายเป๊ะ – – ผู้หญิงสามคนนี้พัวพันโยงใยกันอย่างแยกไม่ออก

สำหรับคนที่ยังไม่เคยอ่านนวนิยาย อาจจะลิ้งค์กับเนื้อหาหนังเรื่องนี้ได้ค่อนข้างยาก เพราะเล่าเรื่องสลับไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบันเกือบทั้งเรื่อง โดยเล่าผ่านสายตาของผู้หญิงสามคนคือ เรเชล, แอนนา และเมแกน แถมตอนต้นๆเรื่องก็ค่อนข้างเนือยชวนง่วง ถ้าใครเผลอวูบอาจต่อเรื่องไม่ติด นอกจากนี้ ยังมีตัวละครผู้ชายสามคนคอยหลอกล่อให้หลงทาง แต่การ “พยายาม” หลอกล่อจนเกินไปนี่แหละที่เป็นจุดอ่อนของหนัง เพราะทำให้คนเดาเรื่องได้ก่อนจะเฉลยในตอนจบ (ซึ่งเป็นปัญหาตั้งแต่นวนิยายแล้ว เพราะฉันก็เดาได้ตั้งแต่กลางเรื่องว่าใครคือฆาตกร) – – แต่ก็มีหลายคนเดาไม่ออกนะ

ตอนจบทำได้ค่อนข้างดีแต่ยังไม่สาแก่ใจ คือยังพีคได้อีก, อยากช่วยแอนนา “ควงสว่าน” มาก…

คุยกันตรงนี้เลยค่ะ

You might also like More from author