Kite Runner เด็กเก็บว่าว

::: จงโอบกอดปัจจุบันแทนการแก้ไขอดีตที่ไม่มีวันหวนคืน :::

สองปีก่อนฉันรู้จักชื่อนวนิยายเรื่อง “เด็กเก็บว่าว (The Kite Runner)” เป็นครั้งแรกในหน้าประวัติผู้เขียนเรื่อง “กาหลมหรทึก” ซึ่ง “ปราปต์” นักเขียนเล่มนี้ยกให้เป็นครูใหญ่ด้านงานเขียนของเขา, วันนั้นฉันสนใจ แต่ก็แค่ทดไว้ในใจว่าหากมีโอกาสจะหามาอ่าน

สามสัปดาห์ก่อนฉันไปถามหาเด็กเก็บว่าวที่ร้านคิโนะคูนิยะ สาขาเอ็มควอร์เทียร์ พนักงานบอกว่าสินค้าหมดทุกสาขา ฉันหลังไมค์ถามตามร้านค้าออนไลน์ผลคือไม่มี คืนนั้นในสเตตัสรีวิวหนังสือของฉันเอง, ฉันบ่นกับปราปต์ที่เข้ามาคอมเมนต์ (ตอนนี้เราเป็นเพื่อนกันในเฟซบุ๊กมาปีกว่าเพราะหนังสือ) ว่าอยากอ่านเด็กเก็บว่าวแต่ไม่มีขายแล้ว เขาแนะนำเพจที่น่าจะมีขายแต่ผลเหมือนเดิม แล้วเรื่องราวน่ารักและประทับใจก็เกิดขึ้น เมื่อปราปต์หยิบยื่นน้ำใจให้โดยฉันไม่ได้ร้องขอ ความใจดีของเขาทำให้ฉันได้อ่านหนึ่งในวรรณกรรมชิ้นเอกของโลกที่นักอ่านเทใจให้เล่มนี้

หลังอ่านจบพร้อมคราบน้ำตาเกรอะกรังใบหน้าเมื่อสัปดาห์ก่อน ฉันก็ตกหลุมรักนวนิยายเรื่องนี้จนถึงขั้นซื้อเวอร์ชันภาษาอังกฤษมาเก็บไว้เพราะไม่อยากเสียใจภายหลังที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ

“เด็กเก็บว่าว” ว่าด้วยเรื่องราวมิตรภาพ ความใสซื่อ ความซื่อสัตย์ การทรยศหักหลัง และการไถ่บาประหว่าง อาเมียร์ กับ ฮัสซาน ผู้เขียนเล่าเรื่องผ่านสายตาของอาเมียร์ โดยเปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์ปัจจุบันก่อนจะเล่าย้อนไปถึงอดีตอันเจ็บปวดที่กักขังเขาไว้ในคุกแห่งความรู้สึกผิดบาปที่มีต่อฮัสซานผู้เป็นทั้ง “เพื่อนที่ซื่อสัตย์” และ “ทาสผู้ภักดี” ดังที่เขาบรรยายว่า

“คนมักพูดกันว่า เราฝังอดีตได้ในกาลเวลานั้น มันไม่จริงหรอกนะ เพราะผมเองตระหนักดีแล้วว่า อดีตสามารถตะกายกรงเล็บคลานกลับออกมาตามหาเราได้เสมอ”

อาเมียร์และฮัสซานเติบโตขึ้นมาในเมืองคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน ทั้งคู่ดูดนมจากอกแม่นมคนเดียวกัน แต่ชาติกำเนิดต่างกันราวฟ้ากับเหว อาเมียร์คือลูกชายมหาเศรษฐีขณะที่ฮัสซานคือลูกคนใช้ที่ต่ำต้อยทั้งชาติกำเนิดและด้อยทั้งหน้าตาค่าที่เกิดมาปากแหว่งเพดานโหว่ แต่จิตใจของเขางดงาม ซื่อสัตย์ และภักดีต่ออาเมียร์จนยกให้ได้แม้ชีวิต

คำแรกที่อาเมียร์พูดได้ในชีวิตคือ “บั๊บบา (พ่อ)”

ส่วนคำแรกในชีวิตที่หลุดจากปากของฮัสซานคือ “อาเมียร์”

และคำพูดติดปากของฮัสซานเวลาทำอะไรให้อาเมียร์ก็ตามคือ

“สำหรับคุณ กว่านี้อีกพันเท่าก็ยังไหว (For you, a thousand times over.)”

ในนวนิยายเรื่องนี้นอกจากความงดงามของมิตรภาพของทั้งคู่แล้ว ผู้เขียนยังสะท้อนความดำมืดในจิตใจของมนุษย์ผ่านอาเมียร์ได้อย่างแยบคายและถึงแก่น เราทุกคนล้วนเห็นแก่ตัวและกำจัดมันได้ยากหากไม่พยายามให้ถึงที่สุด ในขณะเดียวกันผู้เขียนก็โบยตีหัวใจผู้อ่านผ่านความใสซื่อของฮัสซานครั้งแล้วครั้งเล่า

ในขณะที่ฮัสซานให้อาเมียร์ได้แม้กระทั่ง “ชีวิต” แต่อาเมียร์กลับมองฮัสซานเป็น “แค่คนใช้” เขาตีค่าความซื่อสัตย์ภักดีของฮัสซานเป็นเพียงที่รองรับอารมณ์ เขาอิจฉา เขาเรียกร้อง เขาเห็นแก่ตัว เขาสร้างตราบาปที่ยากจะไถ่ถอนให้ชีวิตฮัสซาน และเขาก็สร้างเรื่องสารพัดเพียงเพื่อหวังกำจัดความอัปยศออกจากความทรงจำที่มันเด่นชัดทุกครั้งเมื่อฮัสซานทำดีกับเขาเหมือนเดิม แต่เมื่อฮัสซานและพ่อเป็นฝ่ายเดินออกจากชีวิตเขา แทนที่เขาจะรู้สึกโล่งใจแต่กลับยิ่งทำให้เขารู้สึกผิดบาปจนไม่เคยนอนหลับสนิทเลยสักคืน เมื่อโอกาสมาถึงเขาจึงอยากแก้ไขแม้มันเกือบจะสายไปแล้วก็ตาม

นวนิยายเรื่องนี้คือที่สุดในทุกด้าน ฮาเหล็ด โฮเซนี่ ผู้เขียนวางโครงเรื่องได้ดีมาก ผูกปมหลายขด บดขยี้อารมณ์ในจุดที่หัวใจเรากำลังเต้นตุบๆเหมือนถูกทุบ ก่อนจะค่อยๆหาทางคลี่คลายทุกอย่างในท้ายเรื่องจนเราไม่อาจละสายตาจากตัวหนังสือของเขาได้ และที่โดดเด่นมากๆคือเรื่องสำนวนภาษาและพรรณนาโวหาร ผู้แปลไม่ได้แปลดีมากมายจนต้องยกขึ้นหิ้งด้านการแปล แต่กระนั้นมันก็ยังอยู่ในขั้นดี เพราะว่าต้นฉบับมันดีงามในตัวของมันเอง, ฉันรู้เพราะลองเปิดเทียบบางประโยคทั้งสองเวอร์ชัน

ส่วนตัวฉันคิดว่าที่นักอ่านทั่วโลกเทใจให้นวนิยายเรื่องนี้เพราะผู้เขียนสะท้อนถึง “ความจริง” ที่เราไม่อาจปฏิเสธที่ซ้อนทับอยู่ในตัวเราและอาเมียร์ นั่นคือเราทุกคนเคยทำเลว เราเคยร้ายกับคนที่รักเรา และเมื่อเวลาผ่านไปเราอยากแก้ไขให้มันดีขึ้น เช่นเดียวกับความผิดพลาดจากการกระทำในอดีตของอาเมียร์ต่อฮัสซาน ซึ่งกลับมาตอกย้ำความเจ็บปวดในปัจจุบันที่เกาะกินใจเขาจนยากจะลบเลือน และการพยายามแก้ไขปัญหาความทุกข์ในใจ ซึ่งผู้อ่านอย่างเราๆจะได้เจ็บปวด เรียนรู้ และเติบโตไปพร้อมกับตัวละครว่า ถ้าเรากล้ายอมรับความผิดพลาดในอดีต เราย่อมสามารถแก้ไขปัจจุบันได้, แม้ไม่ดีเหมือนเดิม แต่อย่างน้อยมันก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ดังที่ ราฮีม ข่าน ผู้ใหญ่ที่อาเมียร์เคารพสะกิดเตือนใจเขาจนยอมลดอีโก้ลงว่า

“ยังมีหนทางคืนกลับมาดีได้อีกครั้งนะ (There is a way to be good again.)”

เรากลับไปแก้ไขอดีตไม่ได้ก็จริง แต่สิ่งที่เราทำได้คือเยียวยาปัจจุบันซึ่งเป็นผลพวงจากแผลเรื้อรังของอดีต…

ขอบคุณปราปต์อีกครั้งสำหรับน้ำใจที่ให้ยืมอ่าน ซึ้งใจจริงๆ

คุยกันตรงนี้เลยค่ะ

You might also like More from author