เก็บตก รีวิวหนังสือของปี 59

ช่วง 2-3 เดือนมานี้อ่านหนังสือจบไปหลายเล่ม แต่รีวิวเฉพาะบางเล่ม เพราะไม่ค่อยมีเวลาและอารมณ์ บวกกับอยากเวิ่นถึงบางเล่มยาวๆให้สมกับที่ปลาบปลื้ม แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้พูดถึง แอบรู้สึกผิดนิดๆที่ไม่ได้บอกต่อเพราะบางเล่มก็เป็นหนังสือดีที่อยากให้หามาอ่านกัน งั้นวันนี้รีวิว 6 เล่มนี้ทีเดียวเลยแล้วกันเนาะ

1. สาระภาพ-นิ้วกลม-สนพ. KOOB ==> นิ้วกลมก็ยังเป็นนิ้วกลมที่ขยันมองโลกรอบตัวแล้วเอามาเล่าให้เราอ่านผ่านตัวหนังสือที่อบอุ่นละมุนละไมสไตล์เขาแหละ เล่มนี้น่าสนใจตรงที่เขารวบรวมภาพถ่ายในอินสตาแกรมของเขามาขยายความผ่านภาษาเหงาๆเคล้าอบอุ่นและแฝงแง่คิด โดยมีไอเดียว่าภาพบางภาพก็สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของคนบางภาพมีสาระ แต่ทุกคนล้วนสารภาพความในใจผ่านภาพถ่ายของตัวเอง มุมมองต่อภาพและเรื่องราวต่างๆในเล่มนี้ของนิ้วกลมค่อนข้างคมและกระทบใจ ใครที่ชอบอ่านงานเขียนที่ได้ใคร่ครวญครุ่นคิด ลองอ่านเล่มนี้ดู

2. No Rain in Britain ไม่มีฝนในอังกฤษ-ทรงศีล ทิวสมบุญ+กฤติการ ชัยกล้าหาญ-สนพ. a book ===> บันทึกการเดินทางของสามีภรรยาอารมณ์ศิลปินที่อาสาพาเราท่องไปในเมืองผู้ดี ซื้อเล่มนี้เพราะหน้าปกและชื่อเรื่อง แต่พออ่านจริงๆกลับรู้สึกเฉยๆ เพราะเนื้อหาค่อนข้างสะเปะสะปะ คล้ายจะพาเราไปเที่ยวนั่นนี่โน่นแล้วได้เรียนรู้ระหว่างทางและเติบโตไปพร้อมผู้เขียน แต่ไปๆมาๆเหมือนสองผัวเมียคู่นี้เขียนอวยกันเองและขายผลงานของตัวเองซะงั้น อย่ากระนั้นเลย เขาก็ทำสำเร็จแหละ เพราะกูอยากไปหาหนังสือเล่มอื่นๆของทรงศีลมาอ่านเลยค่ะ 555 ดวกส์!

3. ร้าย…แบบเด็กผู้หญิง (Odd Girl Out)-Rachel Simmons-สนพ. มติชน ==> ซื้อเล่มนี้มาเพราะชื่อล้วนๆ และก็ไม่ผิดหวัง เป็นเล่มที่ชอบมากกก เพราะมันเข้มข้นและตอบโจทย์ในใจหลายๆเรื่อง นักเขียนนำประสบการณ์ตรงของตัวเองที่เคยเป็นเหยื่อความรุนแรงในโรงเรียนสมัยเด็กมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้น ก่อนจะค่อยๆมีแนวร่วมจากทั่วอเมริกาเผยตัวทีละคนๆจนนับไม่หวาดไม่ไหว

เนื้อหาว่าด้วยความรุนแรงในหมู่เด็กผู้หญิง ที่ค่อนข้างซับซ้อนและร้ายกาจกว่าความรุนแรงในหมู่เด็กผู้ชาย อย่างที่รู้กันว่าเด็กผู้ชายโกรธกันต่อยกันก็จบ ฝากแผลทางกายให้ไปทายาก็หาย แต่ในกลุ่มเด็กผู้หญิงมักใช้ความสัมพันธ์ทำร้ายกัน ชนิดไม่มีแม้แต่รอยขีดข่วนแต่ร้าวลึกลงไปถึงจิตวิญญาณ โดยอาศัยความสนิทสนมไว้เนื้อเชื่อใจฉาบทาไว้ แต่ภายใต้ใบหน้าที่ยิ้มแย้มและเป็นมิตร พวกเธอแอบนินทาว่าร้ายและแทงข้างหลัง “เพื่อนสนิท” สารพัดวิธี บางคนอยากเป็นศูนย์กลางของความสนใจจนถึงขั้นใช้วิธี “กัน” เพื่อนบางคนออกจากกลุ่ม บางคนก็ล้อเล่นกับความรู้สึกของเพื่อนเพื่อพิสูจน์อะไรบางอย่างที่มีแต่เจ้าตัวเท่านั้นเข้าใจ

ทุกเคสในเล่มเต็มไปด้วยการฝากแผลทางใจชนิดร้าวลึกจนยากเยียวยา ร้ายกว่านั้นคือเหยื่อบางรายนำปมด้อยที่ตัวเองเคยถูกกระทำตอนเด็กมาทำร้ายคนอื่นต่อเมื่อโตขึ้น เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่คล้ายฆาตกรต่อเนื่องที่ล้วนเคยเป็นเหยื่อมาก่อน ตัวละครในเล่มมีตัวตนจริงๆ เป็นทั้งเหยื่อและผู้กระทำ, ใครสนใจเรื่องความสัมพันธ์อันซับซ้อนและร้ายลึกแบบเด็กผู้หญิงและผู้หญิงแนะนำให้อ่าน

4. ทดเวลาฝันเจ็บ-พอกลอน-สนพ. Springbooks ==> ผลงานรวมเล่มของบรรณาธิการหนังสือเพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวดที่รวบรวมมาจาก storylog จริงๆก็แทบไม่มีอะไรใหม่ เพราะเรื่องที่เขาเขียนคนอื่นเขียนมาหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ เจ.เค. โรว์ลิ่ง, โอปราห์ วินฟรีย์, สองคู่หูเพื่อนซี้แห่ง Google, มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ซีอีโอสุดเนิร์ดแห่ง Facebook, เลดี้ กาก้า นักร้องป๊อปขวัญใจคนทุกเพศ และคนดังหลายๆคนจากหลายวงการซึ่งล้วนแต่เป็นตัวท็อปของโลก

จุดร่วมของบุคคลที่เขายกตัวอย่างมาคือการ “ไม่ละทิ้งความฝัน” ของแต่ละคนแม้มืดมนจนหนทาง ไม่มีใครดังมาตั้งแต่เกิด ไม่มีใครประสบความสำเร็จมาตั้งแต่ต้น ทุกคนล้วนล้มลุกคลุกคลานผ่านความทุกข์และเสียน้ำตามาสารพัดรูปแบบ และทุกคนที่ว่ามาล้วนแต่ทดเวลาให้กับความฝัน คล้ายๆเตะฟุตบอลแล้วมีช่วงทดเวลาบาดเจ็บเพื่อให้โอกาสตัวเองได้มีเวลาแก้ไขปรับปรุงจนก้าวไปสู่ยอดของความสำเร็จในแบบของตัวเอง, ใครที่กำลังท้อ อ่านเล่มนี้น่าจะช่วยเชียร์อัปได้

5. เถื่อนเจ็ด-วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล-สนพ. a book ==> เคยอ่านบทความและบทสัมภาษณ์ของวรรณสิงห์มาบ้าง แต่เพิ่งอ่านผลงานรวมของเขาครั้งแรก ชื่อและโปรยปกค่อนข้างดึงดูดให้หยิบมาอ่าน “7 เรื่องราวการเดินทางเสาะหาชีวิต บน 7 เส้นทางที่พ่อแม่ไม่อยากให้คุณไป” เอาจริงๆวรรณสิงห์เขียนหนังสือสนุกนะ แถมยังทิ้งอะไรไว้ให้เราได้คิดต่อ ไม่ใช่อ่านจบแล้วจบกันเหมือนหนังสือดาษๆเล่มอื่น (พ่อแม่เขาก็นักเขียนดังนี่เนาะ) เขาพาเราไปตะลอนทัวร์ที่ป่าแอมะซอน, ค้นหาความหมายของชีวิตที่อินเดีย, ไปตามรอยพื้นที่ต้องห้ามที่ยูเครน, ปีนภูเขาหิมาลัยไปค้นหาชีวิต, หาคำตอบแห่งความเกลียดชังที่รวันดา, ขี่อูฐกลางทะเลทรายที่จอร์แดน 9 ชั่วโมง แถมโดนทหารที่อิหร่านเอาปืนจ่อหน้า, ใครที่ชอบอะไรเข้มข้นและดิบเถื่อนบวกความเกรียนระดับสิบกะโหลกแนะนำเล่มนี้ค่ะ

6. 1984-จอร์จ ออร์เวลล์- สนพ. สมมติ ==> เป็นเล่มที่อยากอ่านมานานแล้ว เป็นนวนิยายคลาสสิกขึ้นหิ้งของโลก และเป็นหนังสือต้องห้ามในไทยช่วงหนึ่ง ตอนพกขึ้นไปอ่านบนบีทีเอสก็กระมิดกระเมี้ยนกลัวคนเห็นแล้วถูกเชิญไปปรับทัศนคติ 555 ดวกส์! อ่านไปภาพเกาหลีเหนือก็ปรากฏขึ้นมาในหัวค่าที่เคยติดตามข่าวและอ่านหนังสือเกี่ยวกับประเทศนี้มาบ้าง บางช่วงบางตอนภาพปัจจุบันของบ้านเราก็แวบเข้ามาเหมือนกัน

สังคมในหนังสือมันเป็นสังคมแห่งความเคลือบแคลงสงสัย ทุกคนระแวดระวังกัน ไว้ใจใครไม่ได้แม้แต่พ่อแม่พี่น้องหรือเพื่อนสนิท ทุกชีวิตล้วนถูกจับตาจากพี่เบิ้ม หรือ Big Brother (นักเขียนไม่ได้บอกตรงๆว่าพี่เบิ้มคือใคร แล้วแต่คนอ่านจะตีความว่าเป็นผู้นำ, รัฐบาล หรือระบอบการปกครองก็ได้) ระหว่างอ่านก็พักเงยหน้าเป่าปากสูดลมหายใจเป็นระยะ มันเครียดและกดดัน

แต่ขณะเดียวกันมันคือความจริงที่เราเองก็อดคิดไม่ได้ว่า บางขณะเราคือตัวละครในเล่มที่กำลังถูกพี่เบิ้มจับตามองทุกฝีก้าว คนส่วนใหญ่ในสังคมถูกล้างสมองเพราะกลัวบทลงโทษอันโหดเหี้ยม การขายจิตวิญญาณ การละวางความเชื่อตั้งต้น การสยบยอมก้มหัวศิโรราบให้อำนาจที่มองไม่เห็นแต่ร้ายกาจอาจเป็นหนทางรอดเพียงทางเดียว อ่านจบแล้วรู้สึกโล่งแกมสิ้นหวัง คนมีอุดมการณ์บางคนในบ้านเมืองกูคงไม่ต่างจากพระเอกสินะ, ใครชอบแนวการเมืองหนักๆ และการวิพากษ์วิจารณ์สังคม เล่มนี้เหมาะมาก ลองอ่านดู

จบการเก็บตกรีวิวหนังสือของปี 59 แต่เพียงเท่านี้ เดี๋ยวปีหน้ามาเวิ่นเว้อกันใหม่เนาะ

คุยกันตรงนี้เลยค่ะ

You might also like More from author