84, Charing Cross Road :: อ่านหนังสือเถอะ แล้วเธอจะเจอมิตร :::

::: อ่านหนังสือเถอะ แล้วเธอจะเจอมิตร :::

อ่านหนังสือ “84, Charing Cross Road (ร้านหนังสือเลขที่ 84 ถนนแชริงครอสส์)” ของสำนักพิมพ์บุ๊คโมบี้จบแล้วฉันอยากหยิบจดหมายขึ้นมาเขียนถึงใครสักคน, คนที่คู่ควรกับความรู้สึกล้นปรี่ที่อัดแน่นอยู่ข้างใน อันเป็นผลพวงจากความอิ่มเอมหลังเสพหนังสือเล่มนี้

84, Charing Cross Road เป็นหนังสือที่นำจดหมายของเฮเลน แฮฟฟ์ นักเขียนชาวอเมริกันในนิวยอร์กที่เขียนโต้ตอบกันไปมากั แฟรงค์ โดล พนักงานขายและสมาชิกคนอื่นๆในร้านมาร์คส์แอนด์โค ร้านขายหนังสือมือสองเล็กๆแห่งหนึ่งในลอนดอน ประเทศอังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 1949-1969 มารวมเล่มในปี ค.ศ. 1970, แน่นอนว่านี่คือเรื่องจริง ทุกคนในหนังสือมีชีวิตจริงๆ

ไม่น่าเชื่อว่าจากจดหมายฉบับแรกที่เฮเลนเขียนข้ามโลกไปถามถึงหนังสือมือสองคุณภาพดีที่ร้านมาร์คส์แอนด์โคในวันที่ 5 ต.ค. 1949 เพียงเพราะเธออ่านเจอใน Saturday Review of Literature ว่าร้านนี้เป็นผู้ค้าหนังสือโบราณจะเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพที่บริสุทธิ์สวยงามระหว่างลูกค้าและร้านหนังสือยาวนานถึง 20 ปีเต็ม (จดหมายฉบับสุดท้ายในเล่มเขียนเมื่อเดือน ต.ค. 1969)

สำนวนการเขียนจดหมายของเฮเลนเต็มไปด้วยอารมณ์ขันปนจิกกัดแบบน่ารัก ตัวหนังสือของเธอมีความเฮี้ยวและมีเสน่ห์ที่ทำให้ใครก็ตามที่ได้อ่านรู้สึกคุ้นเคยเหมือนรู้จักมักคุ้นกันมานาน ในขณะที่ตัวหนังสือของแฟรงค์ช่างสุภาพทุกตัวอักษรสมกับเป็นผู้ดีชาวอังกฤษทุกกระเบียดนิ้ว ไม่เพียงตัวหนังสือของเขาเท่านั้นที่สุภาพ การเลือกหนังสือให้เฮเลนแต่ละเล่มก็สะท้อนถึงความเอาใจใส่ต่อเพื่อนแดนไกลของเขามากด้วยเช่นกัน

จากการสั่งซื้อหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่า นานวันเข้าก็กลายเป็นความผูกพันและห่วงใยใส่ใจในชีวิตความเป็นอยู่ของกันและกัน เฮเลนมักส่งของกินของใช้ไปให้แฟรงค์และคนในร้านรวมถึงครอบครัวของพวกเขา สมาชิกในร้านก็ส่งของแฮนด์เมดกลับไปให้เธอเสมอ ทุกคนมีโอกาสเขียนจดหมายถึงเฮเลนด้วย บางคนถึงขั้นแอบเขียนแอบส่งเพราะชื่นชมความน่ารักและมีน้ำใจของเธอ เรียกได้ว่าสนิทสนมกันเป็นทอดๆเลยทีเดียว

เฮเลนชอบอุ๊บอิ๊บว่านี่เป็น “ร้านหนังสือของฉัน” แม้เธอจะไม่เคยไปเหยียบที่มาร์คส์แอนด์โคเลยสักครั้งในช่วงที่ร้านหนังสือยังอยู่ แต่เธอก็รู้จักมันแทบทุกตารางราวกับไปเยือนด้วยตัวเอง — เธอรู้จักร้านหนังสือของเธอผ่านการเล่าทางจดหมายและโปสต์การ์ดของเพื่อนสนิทที่มีโอกาสแวะไปที่ร้านหนังสือแห่งนี้แทนเธอ

นี่คือตัวอย่างความเฮี้ยวและน่ารักสไตล์สาวอเมริกันปากกล้าของเฮเลนที่ฉันยกให้เป็นวลีเด็ดประจำเล่ม เมื่อเธอลงท้ายจดหมายฉบับหนึ่งถึงแฟรงค์หลังโต้ตอบกันไปมาได้ราว 3 ปี จดหมายฉบับนี้เขียนเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 1952 ข้อความว่า…

“เรียกฉันว่า ‘มีส’ แฮฟฟ์นะคะ (มีแต่เพื่อนๆของฉันเท่านั้นที่เรียกฉันว่าเฮเลนได้)”

จากประโยคประชดประชันข้างบน ทำให้จดหมายฉบับต่อมาของแฟรงค์ขึ้นต้นด้วยคำว่า “เฮเลนที่นับถือ” (และฉบับต่อๆมาแฟรงค์ไม่เคยเรียกเฮเลนว่า “มีสแฮฟฟ์” อีกเลย 555) อ่านถึงตรงนี้ฉันขำกลิ้งกับความขี้เล่นของเฮเลน และอดยิ้มให้กับความน่ารักของแฟรงค์ผู้แสนซื่อไม่ได้ นี่ถ้าไม่ถูกประชดปนน้อยใจจากเฮเลน แฟรงค์ก็คงให้ความสุภาพมาถ่างระยะห่างของความสัมพันธ์ฉัน “เพื่อน” ไปอีกนาน

นี่เป็นหนังสือสุดคลาสสิกโคตรน่ารักที่จะทำให้คนรักหนังสือและรักการเขียนจดหมายหลงรักได้ไม่ยากฉันรักจดหมายและรักหนังสือเล่มนี้จึงอยากแชร์ต่อให้คนอื่นได้รักบ้าง

อ่านหนังสือ (เล่มนี้) กันเถอะ

You might also like More from author