“จัณฑาล” (Untouchables)

::: จะตายให้เป็นที่จดจำหรือหายใจอยู่ในร่างที่ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นคน :::

หลายคนคงรู้ว่าคนอินเดียส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งแบ่งออกเป็นสี่วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร แต่ยังมีอีกหนึ่งวรรณะที่ถูกแยกออกมา ถูกกีดกันไม่ให้ใช้สิทธิ์ใดๆเทียบเท่าวรรณะอื่นๆที่สูงกว่า ไม่ถูกให้ค่าแม้กระทั่งความเป็นคน นั่นคือวรรณะ “จัณฑาล”

หนังสือ “จัณฑาล” (Untouchables) โดยสำนักพิมพ์สันสกฤต แปลมาจากผลงานเขียนของ ดร.นเรนทรา จาดฮาฟ ลูกชายคนสุดท้องของคนในวรรณะจัณฑาล ที่ใช้การศึกษาถีบตัวเองให้หลุดพ้นจากบ่วงแห่งชนชั้น

เขาเล่าเรื่องผ่านสายตาของพ่อ (ดามู) แม่ (โซนู) สลับกันตลอดทั้งเล่มโดยแบ่งเป็นบทๆ ทั้งคู่เกิดและใช้ชีวิตอยู่โดยมีคำว่า “จัณฑาล” แปะหน้าผาก นอกจากความหดหู่ที่มีแทบทุกหน้าแล้ว ในเนื้อหา (จริงๆคือในบทสนทนาระหว่างพ่อแม่) ก็ยังอุตส่าห์มีอารมณ์ขันและมุมน่ารักให้เราอมยิ้มและหัวเราะ ทั้งยังมีมุมสวยงามของการมีชีวิตเต้นเร่าอยู่ในสายตาของพวกเขา ที่สำคัญคือเราจะได้เห็นวิญญาณของนักสู้ของคนทั้งคู่ที่ถูกจารจดในฐานะคนที่ต่ำต้อยไร้ค่ากว่าสัตว์เดียรัจฉาน

นอกจากจะได้เห็นภาพรวมของสังคมอินเดียแล้ว เรายังจะได้เห็นสังคมย่อยของจัณฑาล เราจะได้รู้ว่ามี “กรอบกฎ” มากมายที่มา “กด” และกักขังชีวิตคนเหล่านี้ เช่น อาชีพที่ได้รับอนุญาตให้ทำคืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับสิ่งโสโครกที่คนวรรณะสูงกว่าไม่ทำ, หน้าที่คนแจ้งข่าวประจำหมู่บ้านเวลามีเหตุการณ์ใหญ่ๆเกิดขึ้น, ต้องแขวนหม้อดินห้อยคอตลอดเวลาเพื่อรองไม่ให้น้ำลายหล่นถูกพื้น, เวลาเดินต้องถอดรองเท้าแล้วเอาไม้กวาดคอยกวาดลบรอยเท้าเพื่อไม่ให้เป็นเสนียดแผ่นดิน, ลูกหลานไม่มีสิทธิ์เข้าเรียนหนังสือร่วมกับวรรณะอื่น ฯลฯ

มันน่าเศร้าตรงที่ทุกคนไม่ชอบการถูกกดขี่ข่มเหงแต่ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาทวงศักดิ์ศรีความเป็นคนเพราะความ “เคยชิน” และถูกจารีตฝังหัวจนไม่กล้ากระดิกตัวคิดต่าง เราเคยเป็นแบบนี้เราจะเปลี่ยนไปเพื่ออะไร เป็นแบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว แต่มันดีจริงๆน่ะหรือ, และน่าเศร้าขึ้นไปอีกเมื่อคนในวรรณะจัณฑาลก็ดูถูกเย้ยหยันกันเอง

วันหนึ่งมีเหตุการณ์พลิกผันทำให้ดานูลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิแห่งตน เหนือกว่านั้นเพื่อ “ปกป้องความเป็นคนของตัวเอง” เพื่อให้หลุดพ้นจากความอยุติธรรมนานา

ไม่ว่าที่ใดในโลกก็เป็นเช่นนี้ เมื่อถูกกดขี่จนไม่มีที่จะยืน, เมื่อถูกเหยียบย่ำจนไม่เหลือความเป็นคน, เมื่อถูกต้อนจนเลือดเข้าตาและหลังชนฝา หนทางเดียวที่เหลืออยู่คือลุกขึ้นมาสู้, สู้ให้โลกรู้ว่าอย่างน้อยก็ได้แสดงออกถึงสิทธิแห่งตน หรือสู้อย่างมากก็แค่ตาย

ตายให้เป็นที่จดจำก็ยังดีกว่าหายใจในร่างที่ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นคน

You might also like More from author