The Road Home :: ถนนนี้กลับบ้าน

ในโลกนี้มีถนนอยู่มากมาย …
มีถนนดี ทางเรียบ เดินสะดวก มีถนนขรุขระ
เดินทางลำบาก หนทางยาวไกล

แต่จะมีถนนสายพิเศษสายหนึ่ง เพียงสายเดียวเท่านั้น
ที่ไม่ว่าจะยาวไกล หนทางยากลำบากเพียงไหน
ในวันเวลาที่เหมาะสม ก็จะมีใครสักคนออกเดินทางไปตามถนนสายนั้น
เพื่อกลับไปสถานที่ที่ให้ความอบอุ่นอย่างไม่มีที่ใดเหมือน

สถานที่ที่เรียกว่า ‘บ้านเกิด’ …

ภาพยนตร์ยุคแรกๆ ของผู้กำกับฯ จางอวี้โหม่ว นั้นได้รับการวิจารณ์ว่า
เป็นหนังที่ดูจัดจ้าน เกรี้ยวกราด ทั้งสีสัน งานภาพ และการแสดงออก
หนังมุ่งตรงสู่เป้าหมายอย่างหนักแน่น รุนแรง ในขณะที่เฉินไค๋เก๋อ

ผู้กำกับฯเพื่อนร่วมรุ่นถูกมอง ว่า
มีท่าทีนุ่มนวล เล่าเรื่องอ่อนโยน และละเมียดละไมกับรายละเอียดมากกว่า

The Red Sorghum (1988), Ju Dou (1990), Raise the Red Lantern (1991)
ล้วนเป็นตัวอย่าง งานที่แสดงออกอย่างเกรี้ยวกราด อารมณ์รุนแรง
และพุ่งตรงสู่เป้าหมาย ต่อเมื่อจางอวี้โหม่ว เปลี่ยนมาหยิบจับเรื่องราวชาวบ้าน
และใช้การถ่ายทำแบบกึ่งสารคดี The Story of Qui Ju (1992),To Live (1992)
ลักษณะหนังดูเรียบง่ายลง แต่หันมาเพ่งพินิจเรื่องราวเล็กๆ ให้ละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงนี้นำมาซึ่งมุมมองที่ลึกซึ้งในการวิพากษ์วิจารณ์สังคม
และบัดนี้คุณสมบัติที่เคยมีการกล่าวกันว่า เฉินไค๋เก๋อโดดเด่นกว่า
มาบัดนี้ จางอวี้โหม่วกลับทำได้ดีไม่ยิ่งหย่อน

สิ่งที่มาพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงนั้น คือ
เนื้อหาหนังที่เกี่ยวข้องกับ ‘เมืองและชนบท’
ที่ปรากฏขึ้นเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ Shanghai Triad (1995)
คล้ายจะเล่าเรื่องคนเมือง
แต่กลับสะท้อนอารมณ์หวนหาชนบทบ้านเกิดเอาไว้เบื้องหลัง
หนังจบลงโดยทิ้งความอาวรณ์ให้แก่ความใสซื่อแบบชนบทที่ถูกทำลายไปจนหมดสิ้น

Keep Cool (1997) งานตลกร้ายเรื่องต่อมา
เป็นเรื่องราวของเมืองใหญ่ที่ถูกกระแสความเจริญเข้ากระหน่ำ
จนกลายเป็นเมืองที่ยั่วโทสะจนพลอยทำให้
อารมณ์มนุษย์พุ่งขึ้นลงปรู้ดปร้าดชวนสติแตกได้ง่ายๆ

ผลงาน 2 เรื่องหลังสุด Not One Less (1999) และ The Road Home
จางอวี้โหม่วพาคนดูออกไปชนบทจีนอันห่างไกล
จับเรื่องราวใกล้ตัว หมู่บ้านกับโรงเรียน,ครูกับลูกศิษย์ ,ปากท้อง กับ การศึกษา
ราวกับจะเป็นงานฉลองการหวนคืนสู่บ้านเกิด
และย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นของสิ่งที่อยู่ในใจคนทำหนังทุกคน
นั่นคือ การเล่าเรื่องที่คุ้นเคยเกี่ยวถิ่นฐานอันเป็นบ้านเกิดของตนเอง

The Road Home เปิดเรื่องด้วย ภาพขาวดำ บนถนนที่เต็มไปด้วยหิมะ
สัมผัสได้ถึงฤดูหนาวและความแห้งแล้งของบรรยากาศ
มีเสียงบรรยายของลั่วหยู่เช็ง (ซุน ฮองไล)
นักธุรกิจหนุ่มที่กำลังเดินทางกลับหมู่บ้านเล็กๆ ทางตอนเหนือของจีน
อันเป็นบ้านเกิดของเขา เสียงบรรยายเล่าว่า
เขาไม่ได้กลับบ้านมานานแล้ว จนกระทั่งทราบข่าวพ่อเสียชีวิตกระทันหัน
เขาจึงกลับมาเพื่อจัดพิธีศพ

เมื่อหยู่เช็ง กลับมาบ้านก็พบว่า
แม่ของเขา(เชา หยูลิง)ยืนยันจะให้จัดพิธีศพแบบโบราณดั่งเดิมตามประเพณีท้องถิ่น
ซึ่งปัจจุบันไม่มีใครทำเช่นนั้นอีกแล้ว โดยแม่จะทอผ้าคลุมโลงศพด้วยตัวเอง
และให้ลูกและชาวบ้านร่วมกันแบกโลงศพจากโรงพยาบาลกลับมายังหมู่บ้าน
เพื่อเป็นการพาวิญญาณผู้ตายกลับบ้าน
ผู้ใหญ่บ้านบอกหยู่เช็งให้ช่วยเกลี้ยกล่อมแม่ให้ยอมมีเหตุผลมากกว่านี้
ยกเลิกความคิดจะจัดพิธีแบบดั่งเดิมที่แสนยุ่งยากเสีย
หรืออย่างน้อยก็ยอมให้ใช้รถขนศพกลับบ้าน
แทนที่จะแบกด้วยแรงงานคน เพราะพิธีการยุ่งยาก
กินแรงผู้คนจำนวนมาก แต่แม่ผู้เศร้าโศกได้ตั้งใจแน่วแน่แล้ว
เธอยืนยันว่า พิธีศพสมเกียรติเช่นนี้จึงจะควรคู่
กับชายที่อุทิศตนสอนหนังสือที่หมู่บ้านนี้มากว่า 40 ปี

ในระหว่างช่วงเวลาที่หยู่เช็งเฝ้าดูแม่ทอผ้านั้นเอง
เขาก็ได้ทบทวนรำลึกถึงเรื่องราวความรักของพ่อกับแม่ ….
ตอนนั้นเป็นฤดูใบไม้ร่วง ที่’เจ้าดี'(จาง ซิยี) แม่ของเขา
อายุเพียง 18 ปี อาศัยอยู่กับยายที่ตาบอด ว่ากันว่า
ยายของเขาตาบอดเพราะร้องไห้ในพิธีศพของตา
ขณะนี้ ‘ลั่วชางหยู่'( เจียง โฮ) ครูหนุ่มวัย 20 ปี
เพิ่งเดินทางมาจากเมืองเพื่อมาเป็นครูที่โรงเรียนประจำหมู่บ้าน

ในขณะที่ เจ้าดี ได้ชื่อว่า เป็นเด็กสาวที่สวยที่สุดของหมู่บ้าน
เธอจึงรับเลือกให้เป็นผู้ทอผ้าแดงที่ใช้เป็นผ้าสิริมงคลพันรอบคานหลังคาของโรงเรียน

นับตั้งแต่วันแรกที่ครูหนุ่มมาถึงเด็กสาวก็ลอบมองเขาไม่วางตา
ยามที่ชายหนุ่มทั้งหมู่บ้านมาช่วยกันก่อสร้างอาคารเรียน
หญิงสาวในหมู่บ้านจะร่วมกันทำอาหารกลางวันมาส่งให้
เจ้าดีก็แอบหวังว่า เขาจะทานอาหารที่เธอทำ
อีกทั้งเธอยังเลือกที่จะไปตักน้ำที่บ่อน้ำเก่าที่ไม่ค่อยมีคนใช้
แต่มันก็อยู่ใกล้โรงเรียน

แล้วความพยายามดึงดูดความสนใจครูคนใหม่ก็สัมฤทธิ์ผล
เมื่อถึงวันที่ครูหนุ่มจะมากินอาหารที่บ้านของเธอ
และเขาก็แสดงความสนใจในตัวเธอเช่นกัน
แต่เหตุการณ์กลับกลาย เพราะครูหนุ่มถูกเรียกตัวกลับเมืองกระทันหัน
เขามีแค่เวลากล่าวอำลาเธอและมอบกิ๊บติดผมเป็นของขวัญเท่านั้น

ในช่วงเวลาแห่งการรอคอย
เจ้าดีก็ไปทำความสะอาดโรงเรียน
และซ่อมแซมกระดาษหน้าต่างให้อยู่ในสภาพดี
จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านรับรู้ถึงความรักที่เธอมีต่อครูหนุ่ม
และกลายเป็นข่าวซุบซิบไปทั่วหมู่บ้าน
เพราะในยุคสมัยนั้น การแต่งงานด้วยความรักถือเป็นสิ่งใหม่
เพราะการแต่งงานส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นเรื่องคลุมถุงชน

ครูหนุ่มจากไปตลอดช่วงเวลาของฤดูหนาว
เจ้าดีเฝ้ารอคอยเขาจนใกล้วันเปิดเทอม
เธอจึงออกเดินทางไปตามในวันที่อากาศหนาวจัด
จนเป็นลมหมดสติอยู่กลางหิมะ และมีผู้นำกลับมาส่งบ้าน
เธอตื่นขึ้นอีก 2 วันต่อมา และพบว่า
ชางหยู่กลับมาแล้วและยังเฝ้าดูอาการเธออยู่นาน
แต่เพราะเขากลับมาโดยไม่ได้รับอนุญาต
จึงต้องเดินทางกลับเมืองเพื่อรับการลงโทษอีกครั้ง
ซึ่งครั้งนี้ เขาและเธอต้องรอคอยการพบกันอีกนานถึงสองปีเลยทีเดียว

วันหนึ่งในปลายของฤดูหนาวที่สอง ครูหนุ่มกลับมา
โดยมีเธอเฝ้ารออยู่ที่ถนนสายเดิม และทั้งคู่ก็ไม่เคยแยกจากกันอีกเลยนับตั้งแต่นั้น….
ภาพยนตร์ที่ดูง่าย ไม่ซับซ้อนเรื่องนี้ มีเนื้อหาเรียบๆ
แค่เหตุการณ์ที่ชายหนุ่มคนหนึ่งกลับบ้านไปร่วมงานศพพ่อ
และ ใช้เวลา 3 วันอยู่กับมารดาคิดทบทวนถึงช่วงเวลาที่พ่อแม่ของตนพบรักกัน แต่ในความเรียบง่ายนั้น หนังบรรลุถึงการถ่ายทอดความลึกซึ้ง
ความละเอียดอ่อนของความรัก ความเข้าใจ
และยังเปี่ยมไปด้วยอารมณ์โหยหาอดีตอันงดงาม

ภาพยนตร์เรื่องนี้
มีส่วนคล้องจองกับชีวิตจริงของผู้กำกับฯจางอวี้โหม่วอยู่บ้าง
เนื่องจากพ่อของเขาเสียชีวิตในปี 1997
ขณะที่เขาทำงานกำกับละครโอเปร่า เรื่อง Turandot ให้กับ Florence Opera
ซึ่งจางอวี้โหม่วทำได้เพียงเดินทางกลับไปร่วมงานศพบิดาที่เมืองเสียน
บ้านเกิดของเขาในภายหลังเท่านั้น

ใครที่ดูหนังยุคแรกๆ ของจางอวี้โหม่ว
ย่อมทราบดีถึงการแสดงออกอย่างเกรี้ยวกราด
ความคับแค้นที่คุกรุ่นอยู่ภายในสีสันร้อนแรง
แต่ The Road Home กลับพาเราสัมผัสได้ถึงความรักอันอบอุ่น
เก็บรายละเอียดใกล้ตัว โรงเรียนชนบทที่เก่าคร่ำคร่า
ความสำคัญของช่วงเวลาอาหารกลางวัน, ฤดูที่แปรผัน
ทุกอย่างถูกบอกเล่าผ่านรายละเอียดจุกจิก
อย่าง ชามกระเบื้องใบโต,ซาลาเปาทำเอง,ผ้าทอด้วยมือ,
เสียงท่องอาขยานของเด็กๆ,สีของใบไม้ในฤดูใบไม้ร่วง,
เสื้อหนาวแดงจัดจ้า หรือ กิ๊บเล็กๆ สักอัน

การให้ความสำคัญแก่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้
ทำให้หนังส่งผ่านความละเอียดอ่อนมาสู่ผู้ชมให้สัมผัสถึงอดีตอันงดงาม
ภาพอดีตงดงามที่หนังสะท้อนออกมานั้น
เราสัมผัสได้ถึงความรักที่ผูกสมัครกันไว้ด้วย
การดูแลเรื่องปากท้องและจารีตประเพณี
ผู้ชายร่วมแรงร่วมใจสร้างโรงเรียน ผู้หญิงทำอาหาร
ชุมชนเล็กๆ ที่ทุกเรื่องราวแพร่ถึงกันหมด
ความงดงามในอดีตนั้นมาพร้อมกับความละเอียดอ่อนของจิตใจ
ที่ยังไม่มีเรื่องของวัตถุเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้อง

The Road Home สร้างอารมณ์โหยหาอดีตได้อย่างสมบูรณ์
เสียจนไม่จำเป็นต้องใช้เพชรเม็ดใหญ่มาแทนค่าความรัก
เพียงแค่ฉากชามกระเบื้องแตกก็ให้ผลทางอารมณ์ได้ราวเพชรร้าว
ด้วยเพราะคุณค่าทางจิตใจของชามใบนั้นนั้นสูงส่งกว่าเงินทองมากนัก
และ สุดท้ายฉากที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง ก็คือ
ภาพมืออันเหี่ยวชราของช่างปะชามที่บรรจงตอกตะปู
ผสานชิ้นส่วนที่แตกเสี้ยวของชามใบนั้นให้คืนกลับดั่งเดิม

เมื่อหยิบยื่นความรัก ความเข้าใจให้แก่กัน
ท่าทีเกรี้ยวกราดไม่ใช่สิ่งจำเป็น
The Road Home เลือกใช้เพียงภาพขาวดำแทนเหตุการณ์ปัจจุบัน
แต่ใช้สีสดใสเล่าเรื่องเหตุการณ์ในอดีต
เทคนิคภาพพื้นฐานแค่นี้ หนังก็ให้อารมณ์โหยหาอดีตอันงดงาม
และหยิบยื่นบทสรุปที่งดงามยิ่งกว่า เมื่อเราได้พบว่า
ความงดงามเยี่ยงในอดีตนั้นอาจจะเหลืออยู่น้อยนิด
หากแต่สายใยของความรักความเข้าใจ
ยังสามารถประสานใจผู้คนไว้ด้วยกันตลอดไป

ในช่วงแรก คนเมืองอย่าง’หยู่เช็ง’ เองก็ไม่เข้าใจว่า
เหตุใดแม่จึงต้องเหน็ดเหนื่อยทอผ้าเอง ทำไมต้องจัดพิธีศพที่ยุ่งยาก
แต่เมื่อเขาได้มีช่วงเวลาสั้นๆ ทำความเข้าใจเรื่องราวของพ่อแม่
เขากลับได้พบว่า สิ่งที่เขาคิดว่า ยุ่งยาก วุ่นวายนั้น แท้ที่จริงแล้ว
มันมีความหมายลึกซึ้งไปกว่า ความสะดวกสบายกาย
แต่เป็นตัวแทนของคุณค่าทางใจบางประการที่สูญหายไป

และเมื่อถึงวันแห่ศพกลับบ้าน หยู่เช็งพบว่า
ไม่ใช่เพียงเขาเพียงคนเดียวเท่านั้นที่โหยหาคุณค่าทางจิตใจเช่นนั้น
หากแต่ยังมีชาวบ้านและลูกศิษย์ของพ่ออีกมากมาย
ที่ต่างพร้อมใจจะมาช่วยงานศพอย่างแข็งขันไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย
สุดท้าย หลังเสร็จสิ้นพิธีศพ แม่พาหยู่เช็งไปที่อาคารเรียน
ซึ่งจะถูกรื้อสร้างใหม่ในฤดูใบไม้ผลิหน้า แม่เล่าว่า
พ่อของเขาฝันเสมอว่า สักวัน ลูกชายจะกลายเป็นครูประจำหมู่บ้านต่อจากตน
และแล้วก่อนที่หยู่เช็งจะกลับไปทำงานในเมืองอีกครั้ง
เขาจึงใช้เวลาหนึ่งวันเต็มๆ ทำการสอนหนังสือให้กับเด็กๆ
ในหมู่บ้าน ณ ที่อาคารเรียนหลังเก่านั่นเอง

เย็นย่ำวันนั้น เสียงท่องอาขยานของเด็กๆ
ก็ดังก้องกังวาลไปทั่วหมู่บ้านอีกครั้ง…
ในภาพยนตร์ที่ตลอดทั้งเรื่องจำกัดมุมมองผู้ชมให้อยู่เห็นแต่ชนบทเล็กๆ
มีตัวละครที่นับได้ไม่เกินจำนวนนิ้วในสองมือของเรา
แต่กลับเห็นความสำคัญของสถานที่ที่อยู่ตรงสุดปลายถนนแห่งนี้

ภาพของหญิงสาวที่เฝ้ารอคนรักอยู่ที่สุดปลายถนน…

เป็นเหมือนสายใยของความรัก
ความใสซื่อของอดีตที่รอคอยอยู่ตรงสุดปลายทางของปัจจุบันนั่นเอง
ทุกคนย่อมมีบ้านเกิด ทุกเมืองย่อมมีอดีต ทุกความรักย่อมมีที่มา
ซึ่งหากนับกันจริง ๆ แล้ว การที่หยู่เช็งมาร่วมรำลึกอดีตในพิธีศพนี้
เราจะบอกว่า เป็นการที่คนเมืองหวนคิดถึงอดีต หรือ
เป็นความรักที่หวนรำลึกถึงความห่างไกลที่เคยขวางกั้นคู่รักไว้ก็ตาม
แต่พึงรำลึกไว้เถอะว่า ทุกๆ ระยะห่างนั้น ก็จะมีถนนสายหนึ่งเชื่อมต่อให้ไปถึงกันได้เสมอ

และไม่ว่า ถนนสายนั้นยาวไกลเพียงใด
เส้นทางจะลำบาก อากาศจะหนาวเหน็บ
แต่ ณ เวลาที่เหมาะสมเวลาหนึ่ง ความรัก ความเข้าอกเข้าใจ
ก็ช่วยให้เส้นทางสายนั้นไม่ไกลเกินเดินถึง
และ ฤดูหนาวที่ยาวนานนั้น ก็ไม่นานเกินรอ
Road Home ถนนนี้กลับบ้าน
อำนวยการสร้าง – เชา ยู
กำกับภาพยนตร์ – จาง อวี้โหม่ว
บทภาพยนตร์ดั่งเดิม – เบา ชิ
กำกับภาพ – ฮัว หยง / กำกับศิลป์ – เกาเจียผิง
บันทึกเสียง – วูลาลา
ลำดับภาพ – ไช่ รู
ดนตรีประกอบ – ซาน เบา
ผู้แสดง – จาง ซิยี (เจ้า ดี -วัยสาว) ,ซุน ฮองไล (หยู่เช็ง),
เจียง โฮ (ชางหยู) , เชา หยูลิง(เจ้าดี วัยชรา) ฯลฯ

คุยกันตรงนี้เลยค่ะ

You might also like More from author