In the Mood for Love ::ภาพนิ่งของ’ความรัก’

บางครั้ง ห้องหับแคบๆก็มีความทรงจำซุกซ่อนอยู่มากมาย
มากเสียจนความแคบไม่อาจเก็บงำไว้ได้หมด

แต่บ่อยครั้ง ที่สถานที่ใหญ่โต ก็กว้างใหญ่เกินไป
เคว้งคว้างเวิ้งว้างเสียจนไม่รู้จะจดจำตรงไหน

ที่จริงแล้ว มันไม่ใช่ปัญหาของพื้นที่

แต่เป็นเพราะ’ความทรงจำ’
ไม่ว่าจะมีมากไปหรือน้อยไปก็ล้วนแต่ทำร้ายเราได้ทั้งนั้น …

ในบรรดาภาพยนตร์ของผู้กำกับฯ หว่องการ์ไว
ดูเหมือนว่า เขาจะวนเวียนทำหนังอยู่หัวข้อเดียว
นั่นคือ ความเปลี่ยนแปลงของฮ่องกง

อาจต่างเวลา ต่างมุมมอง รายละเอียดผิดแผก

แต่ทุกเรื่องก็ยังวนเวียนอยู่กับหัวข้อเดิม
หากบอกว่า Days of Being Wild และ Ashes of Time คือ การย้อนไปสืบหาอดีต Chungking Express, Fallen Angles ก็คล้ายการเพ่งพินิจปัจจุบัน ส่วน Happy Together นั้นเป็นเรื่องของการเฝ้ามองบ้านผ่านระยะทางอันห่างไกล แต่ในบรรดาอารมณ์โหยหา’บ้านเก่า’ ด้วยกันแล้ว In The Mood for Love นับว่า ผิดแผกจากทุกเรื่อง

ผู้กำกับฯวัย 43 ปี ให้สัมภาษณ์ ถึง In the Mood for Loveไว้ว่า’ Chungking Express และ Fallen Angles เราพยายามจะจับเอาปัจจุบันเป็นหัวใจหลัก แต่ In the Mood for Love นี้ เราไม่พยายามยึดจับอะไรเลย เพราะมันมีบางช่วงขณะในชีวิตคุณที่มันจะคงรูปทรงเดิมอยู่ตลอดไป ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของคุณราวกับภาพนิ่ง’

ที่จริง In the Mood for Love ควรจะเป็นหนังที่สร้างถัดจาก ‘2046’ จะเป็นเหตุการณ์สมมุติในอนาคตอีก 50 ปีหลังจากฮ่องกงเปลี่ยนมือ (ในขณะที่ In the Mood for Love มีท้องเรื่องอยู่ในช่วงปี 1962 ซึ่งนับรวมแล้ว จะมีระยะเวลาห่างกับ ‘2046’ ราว 100 ปี )

แต่เหตุผลที่ In the Mood for Love แซงหน้าเสร็จก่อนน่ะหรือ ? ผู้กำกับฯ หว่อง การ์ ไว เล่าว่า อาจจะเป็นเพราะ’อดีตเรียกหา’

‘มันคล้ายเราหลงรักผู้หญิงสองคนในเวลาเดียวกัน คือ เราถ่ายทำ’2046’อยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วเราก็รู้สึกว่า กรุงเทพฯคล้ายกับฮ่องกงในยุค60 เราจึงตัดสินใจย้ายกองถ่าย In the Mood for Love มา แล้วเราก็รู้สึกว่า สองเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน’ หว่องฯ ใช้สรรพนามว่า ‘เรา’ เสมอในการให้สัมภาษณ์ ทั้งที่เขาทำหน้าที่คนเดียวทั้ง กำกับฯ เขียนบท และอำนวยการสร้าง

In the Mood for Love เป็นภาพยนตร์ที่พยายามจะทำตัวเป็นภาพนิ่ง แต่ไม่ใช่แค่บันทึกภาพบุคคล หรือสถานที่แบบภาพนิ่งทั่วไป หนังพยายามทำหน้าที่ราวกับภาพนิ่งหน้าหลุมศพให้แก่

‘ความรัก’ที่ครั้งหนึ่งเคยมีชีวิตอยู่ แต่บัดนี้ได้กลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว

หนังทั้งเรื่องจะใช้เวลาหมดไปกับการพาเราเดินลัดเลาะซอกตึก โคลสอัพฝาผนัง ดูรอยปริแตกของกำแพง ลวดลายของเสื้อผ้ากับเฟอร์นิเจอร์ อ้อยอิ่งกับเสียงเพลงและควันบุหรี่ โดยไม่มีคำพูดใดๆ แต่ปล่อยให้คนดูรำลึกเองว่า แต่ล่ะร่องรอยนั้น ควรจะมีความทรงจำหน้าตาอย่างไรบรรจุอยู่
…ฮ่องกงปี 1962 ช่วงเวลาอันหอมหวานภายใต้การปกครองของอังกฤษ หนังจับเอาความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงคู่หนึ่ง มาบอกเล่าเป็นเรื่องราวของความรัก ที่แม้แต่ตัวมันเองก็ไม่แน่ใจในความมีอยู่

สู่ไหล่เจิน หรือ คุณนายเฉิน(จางมั่นอวี้) และคุณเจ้า(เหลียงเฉาเหว่ย)เป็นเพื่อนบ้านใหม่ที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ตึกเดียวกัน คุณนายเฉินทำงานเป็นเสมียนหน้าห้องให้กับเจ้านายผู้ไม่ค่อยมีเวลาให้กับภรรยาเลย ฝ่ายคุณเจ้าก็ทำงานหนังสือพิมพ์ ที่ไม่เคยมีเวลาว่างตรงกับภรรยาอีกเช่นกัน
ภายใต้สายตาของเพื่อนบ้านที่อยู่กันอย่างแออัด เขาและเธอต่างรักษามารยาทและรักษาระยะห่างกันอย่างเคร่งครัด แต่ไม่ช้าทั้งคู่ก็พบว่า สามีของเธอและภรรยาของเขา มักจะมีธุระไปต่างประเทศพร้อมๆกัน และทั้งคู่ยังได้รับของใช้ของฝากซ้ำกันบ่อยๆ

อาจเพราะความคับแคบของสถานที่ ทั้งสองจึงเดินสวนกันบ่อยๆ ถ้าไม่ใช่ตรงที่พักบันได ก็เป็นตรอกแคบๆหน้าร้านก๋วยเตี๋ยว ทักทาย ถามไถ่สุขภาพ หยิบยืมหนังสือกันอ่าน ไม่นานทั้งสองก็นัดกินข้าว และพูดคุยกันเรื่องกระเป๋าถือ,เน็คไท บทพูดของพวกเขาฟังดูไม่มีความหมาย ไม่ว่า เราจะลอบฟังขนาดไหน เราก็ไม่ค่อยรู้อะไรเพิ่ม
‘กลับดึกอย่างนี้ ภรรยาคุณไม่ว่าอะไรหรือ ?’
‘ ไม่หรอก สามีคุณล่ะ’
….
‘ภรรยาคุณเขียนจดหมายมาว่าไง?’
‘ ก็ไม่มีอะไร’
‘ แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป?’…
บทสนทนาของพวกเขาไม่ชี้ชัดอะไร อากัปกิริยาของทั้งสองก็เมินเฉย บางครั้งเขาก็นั่งสูบบุหรี่อยู่ในห้องมืดๆ พ่นควันลอยโรยตัวเป็นสายสีขาวอ้อยอิ่งอยู่บนพื้นว่างๆของผนังห้อง หรือ บางครั้งเธอนั่งอยู่ข้างโทรศัพท์โดยไม่พูดอะไร บางครั้งก็บทพูดลอยๆก็ดังขึ้นโดยที่เราไม่เห็นคนพูด อย่าว่าแต่ตลอดทั้งเรื่อง หนังได้เก็บงำ’สามีของเธอ’ กับ ‘ภรรยาของเขา’ ไว้อย่างมิดเม้น ไม่ให้เราเห็น

ท่วงทำนองของเพื่อนบ้านที่สวนกันตรงทางเดิน ทักทาย เรียกกินข้าวตามมารยาท หนังดำเนินไปจนเราล่วงรู้(จนได้) ว่า คุณเจ้าและคุณนายเฉินมีความสัมพันธ์กัน ทั้งสองคนทำเช่นเดียวกับที่(คิดว่า)สามีของเธอกับภรรยาของเขาทำ – – แต่เรารู้ได้อย่างไร? เลิฟซีน? การสัมผัสร่างกาย?
บทพูด? เราจะเชื่อบทพูดไหนล่ะ ในเมื่อหลายต่อหลายครั้ง เธอพูดโน่นนี่ เธอบอกว่าจะเลิกกับสามี บางครั้งก็บอกจะเลิกกับเขา แต่ก็มักจะลงเอยด้วยน้ำตา ส่วนเขาก็ปลอบเธอว่า อย่าร้องไห้ มันเป็นแค่การซ้อมเท่านั้นเอง

ครั้งหนึ่ง ชายหนุ่มพูดถึงการฝังความลับด้วยการกระซิบฝากไว้ในแผ่นหิน และในฉากสุดท้ายของหนังซึ่งตลอดทั้งเรื่องจำกัดอยู่แต่ในห้องหับแคบๆ มืดๆ ก็พาเราออกมาเห็นท้องฟ้ากว้างใหญ่ของ นครวัต ศาสนสถานใหญ่ที่สุดในโลก ชายหนุ่มไปที่นั่นเพียงลำพัง กล้องจับภาพจากมุมกว้าง เราเห็นว่า เขาทำทีคล้ายกระซิบพูดบางสิ่งกับซอกหิน ซึ่งเราไม่ได้ยิน ..จนถึงฉากสุดท้าย หนังก็ยังไม่ได้ชี้ชัดอะไรเลย
In the Mood for Love วางมุมกล้องให้ คนดูอย่างเราอยู่ในสถานภาพเพื่อนบ้านสอดรู้ ที่กำลังแอบดูความสัมพันธ์ลับๆของชายหญิงคู่นี้ แต่กระนั้น แม้ในที่ลับตาทั้งคู่ก็ยังระแวดระวังราวกับรู้ว่า มีคนลอบมองอยู่ ช่างเป็นหนังที่จำกัดสายตา ปิดกั้นการรับรู้ บทพูดที่ได้ยินก็ไม่ตรงกับภาพที่เห็น ด้วยวิธีการเช่นนี้เรายัง(อุตสาห์)รับรู้ได้ถึงการ’มีอยู่’ ของความรักที่ถูกซ่อนเร้นจนได้
นึกออกไหม บางความรักที่ถูกซ่อนไว้นานๆ เข้า เจ้า”ความรัก”นั้นก็ชักจะไม่แน่ใจในความมีอยู่ของตัวเองเหมือนกัน
ที่น่าสงสัยคือ ในเมื่อเล่าเรื่องปกปิด ซ่อนเร้นกันขนาดนี้ แล้วหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องด้วยอะไร?
ทำไม หนังที่พระ-นางมีการสัมผัสร่างกายกันน้อยมากเรื่องนี้ จึงสามารถให้ความรู้สึกเซ็กซี่ ทิ้งอารมณ์ปรารถนาอ้อยอิ่งอยู่ตามหัวมุมถนนที่เขาและเธอเดินผ่าน(ใบปิดหนังเป็นภาพพระเอกสวมกอดนางเอก และในสูติบัตรเรื่องนี้ก็มีภาพสองคนบนเตียง แต่ทั้งหมดนี้เล่าให้ฟังเฉยๆ ไม่มีให้เห็นในหนัง)สรุปว่า นอกจากชื่อเรื่องแล้ว แทบไม่มีอะไรบ่งชี้…นี่คือหนังรัก งั้นอะไรเล่า? ที่ทำให้เรารับรู้ได้ถึงการมีอยู่ของ’บางสิ่ง’ ระหว่างชายหญิงคู่นี้

In the Mood for Love บรรลุถึงการเล่าเรื่องด้วยส่วนที่ไม่เห็น สิ่งที่เราพบเห็นในหนังเรื่องนี้เป็นเพียงแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งที่ลอยพ้นน้ำมาเพียงน้อยนิด แต่กลับทำให้ผู้ชมล่วงรู้ถึงส่วนใหญ่ของภูเขาที่จมน้ำอยู่เบื้องล่าง

หรือจะบอกว่า นี่เป็นภาพยนตร์รักที่เล่าเรื่องโดยตัดเอาสิ่งที่(เคย)จำเป็นของหนังรักออกไปจนหมดสิ้น แม้จะคงเนื้อเรื่องเดิมๆ ชู้รักลับๆ ความรักที่ซ่อนเร้น แต่ในความ’ไม่เห็น’นี้ หนังอาศัยความรู้สึกนึกคิดของผู้ชมเข้าไปตัดสินเรื่องราว เนื้อหาของหนังเรื่องนี้แทบจะขึ้นอยู่กับคนดูแต่ละคนด้วยซ้ำว่า คิดอะไรอยู่ หรือคุณจะดูหนังเรื่องนี้แล้วบอกว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ยังได้ (ถ้าคุณจะคิดอย่างนั้นได้ลงนะ!)
สิ่งที่ถูกใช้ทดแทนเลิฟซีนและบทพูด คือ การออกแบบศิลป์ที่โดดเด่นราวกับจะโลดแล่นออกจากนอกจอ ภาพและเสียงในแต่ละฉากแสดงออกถึงเจตนาจัดวางให้เป็นเช่นนั้น งานออกแบบภาพรวมของหนังได้ครอบงำความสำคัญของนักแสดง จนสิ่งที่หนังจะเล่ามันปรากฎอยู่ในบรรยากาศรอบๆตัวคน เพียงแค่เราพิจารณาดูภาพนิ่งๆ อากาศว่างๆ ของหนังจะรู้สึกถึงการ’มีอะไรอยู่’แน่ๆ ทั้งที่คนที่อยู่ในภาพอาจจะทำท่าทีราวกับว่า รอบๆตัวไม่ได้มีอะไรสำหลักสำคัญ
ด้วยเหตุนี้ หลายต่อหลายครั้งหนังจึงใช้งานนักแสดงราวกับเป็นสิ่งของประกอบฉาก ฉากที่ตรึงตราตรึงใจที่สุดนั้น จางมั่นอวี้ไม่ได้แสดงท่าทียั่วยวนใดๆ เลย เธอเพียงปรากฎตัวด้วยชุดรัดรูปสีสัดจัดจ้าน ลวดลายเสื้อผ้าของเธอแข่งขับกับฉากหลัง บางครั้งเสื้อผ้าของเธอก็ลวดลายเดียวกับสิ่งของประกอบฉาก พวกเมนูอาหาร หรือ กระเป๋าถือ

ช่วงท้ายเรื่อง ชายหนุ่มย้ายไปทำงานที่สิงค์โปร์ วันหนึ่งเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เขารับแต่ไม่มีเสียงจากฝ่ายตรงข้าม ภาพเลื่อนกล้องมาให้เห็นว่า อีกด้านของหูโทรศัพท์มีเธอถือสายอยู่ รอจนโทรศัพท์วางสาย บทสนทนาที่ไม่ได้พูดเมื่อครู่นี้ค่อยดังให้ได้ยิน สุดท้ายแล้วเสียงและภาพที่ไม่ได้มาพร้อมกันนี้ อาศัยการกำหนดพื้นที่ของภาพก็เล่าเรื่องได้มากกว่าสีหน้าท่าทางนักแสดงเสียอีก
แต่ที่ไม่ต้องสงสัยเลย คือ ความสามารถของนักแสดง เหลียงเฉาเหว่ย และจางมั่นอวี้ ทั้งคู่บรรลุถึงการแสดงนอกฉากมาแล้วอย่างหนัก และคั้นเอาจนเหลือแค่ที่เห็นในหนัง แต่กลับส่งผลให้คนดูสัมผัสได้ถึงส่วนเต็มของเรื่องราวทั้งหมด

เหลียงเฉาเหว่ย เจ้าของรางวัล ผู้แสดงนำชายจากงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ เล่าถึงการแสดงหนังเรื่องนี้ว่า คล้ายตุ๋นน้ำแกง ใส่เครื่องปรุงทั้งหมดตั้งไฟอ่อนๆเคี่ยวจนเปื่อย และกรองเหลือแต่น้ำแกงที่ครบเครื่องทั้งรส กลิ่นและตัวยา

ยังมีข้อสงสัยอีกอย่าง เกี่ยวกับการเป็นภาคต่อของ Days of Being Wild ซึ่งผู้กำกับฯหว่องการ์ไว เองก็ยืนยันไว้ในหลายจุด อาทิ ชื่อจริงของคุณนายเฉิน คือ สู่ไหล่เจิน ซึ่งเป็นชื่อตัวละครที่

จางมั่นอวี้แสดงใน Days of Being Wild และระหว่างที่ถ่ายทำ ผู้กำกับฯหว่องฯก็บอก จางมั่นอวี้ให้แสดงโดยสมมุตตนเป็นสู่ไหล่เจินในอีก 10 ปีต่อมาจากเรื่องที่แล้ว และฉากที่เธอถือหูโทรศัพท์โดยไม่พูดอะไรก็สืบเนื่องจากฉากจบของ Days of Being Wild ที่เธอโทร.หานายตำรวจ(แสดงโดยหลิวเต๋อหัว) ที่ตู้โทรศัพท์หัวมุมถนน
ด้วยเหตุนี้ หากว่า หนัง ‘2046’เสร็จสมบูรณ์ก็มีความเป็นไปได้ที่จะนับเป็นภาคต่อของเรื่องราวชุดเดียวกันนี้ อีกทั้งหมายเลขห้องที่คุณเจ้าและคุณนายเฉินนัดพบกันในเรื่องนี้ก็ยังเป็นหมายเลข’2046’อีกด้วย
ในโลกที่มุ่งทะยานไปเบื้องหน้าทุกวันนี้ ณ เวลาหนึ่ง เราทุกคนต่างมีบางความทรงจำที่ไม่อาจสลัดให้หลุดพ้นไปได้ ในยุคสมัยที่คุณค่าของ’ความรู้สึก’ได้ถูกตัดทอนออกไปจนกลายเป็นสิ่งไร้ค่า แต่ In the Mood for Love กลับยึดเอาการเล่าเรื่องด้วย’ความรู้สึกล้วนๆ’ และยังคงความสมบูรณ์ของเนื้อหาได้อย่างครบถ้วนเช่นนี้ โดยส่วนตัวแล้ว เห็นว่า นี่เป็นงานที่ดีที่สุดของหว่องการ์ไว(ในขณะนี้)เลยทีเดียว
มีข้อสังเกตอีกประการว่า In the Mood for Love เลือกมาถ่ายทำที่กรุงเทพฯ ด้วยเหตุผลว่า กรุงเทพฯดูคล้ายฮ่องกงเมื่อสัก 50 ปีที่แล้ว ในขณะที่ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ก็มีหนังไทยเรื่อง ‘จัน ดารา’ยกกองไปถ่ายทำที่หลวงพระบาง ประเทศลาว ด้วยเหตุผลเดียวกันว่า หลวงพระบางมีสภาพคล้ายกรุงเทพฯเมื่อ 50 ปีที่แล้ว …นี่คงบอกได้ว่า พวกเรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่ผู้คนโหยหาอดีตกันขนาดไหน

In the Mood for Love บรรลุผลของการปลุกภาพอดีตให้มีชีวิต ความรักที่ร้อนเร่าภายในหัวใจ ภาพยนตร์พาผู้ชมสัมผัสความลี้ลับของความทรงจำที่ยังดำรงอยู่ ความทรงจำที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักเท่าไร เราจะเดินทางกันไปอีกไกลเพียงไหน และมีอะไรให้จดจำอีกมากเท่ามาก…แต่ก็จะมีพื้นที่เล็กๆแคบๆของความทรงจำหนึ่งอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งบนโลกนี้
ซึ่งจะมีแต่เราผู้เดียวเท่านั้นที่ล่วงรู้…

1210319050_in_the_mood_for_love

In the Mood for Love (2000)
อำนวยการสร้าง,กำกับภาพยนตร์,บทภาพยนตร์ – หว่องการ์ไว / กำกับภาพ – มาร์ค ลี ผิง ปิง, คริสโตเฟอร์ ดอยล์ / กำกับศิลป์ ,ลำดับภาพ – วิลเลี่ยม ชาง / ดนตรีประกอบ – ไมค์ กาลาสโซ ,อูเมบายาชิ ชิเกรุ/ ผู้แสดง – เหลียงเฉาเหว่ย (คุณเจ้า) ,จางมั่นอวี้ (สู่ไหล่เจิน) , รีเบคก้า แพน(คุณชุน เจ้าของห้องพัก) ฯลฯ

คุยกันตรงนี้เลยค่ะ

You might also like More from author