::: “น้ำตา” คือสิ่งสะท้อนว่าเรามี “หัวใจ” :::

::: “น้ำตา” คือสิ่งสะท้อนว่าเรามี “หัวใจ” :::

บนหน้าปกหนังสือ “ทานยาหลังอาหาร แล้วดื่มน้ำตามากๆ” (เขียนไม่ผิดหรอก อ่านว่า “น้ำตา” จริงๆ) โดยสำนักพิมพ์ SALMON BOOKS ผลงานของจิราภรณ์ วิหวา โปรยไว้สั้นๆว่า “สิบสองเรื่องสั้นบำบัดสำหรับคนไม่ถนัดการฟูมฟาย” — สั่นสะเทือนต่อมฟูมฟายของชะนีสายเวิ่นเว้อดราม่าควีนอย่างฉันระดับสิบกุรุส

หลังจากฉันอิ่มใจกับสำนวนภาษาละมุนละไมน่ารักของจิราภรณ์ในเล่ม “บำเพ็ญตะกละ” มาแล้ว ลีลาการเขียนของเธอในเล่มนี้ยังคงลายเซ็นอันเป็นเอกลักษณ์ไว้ครบถ้วนเหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมคือความสนุกสนานและความเรียลสลับกับเรื่องเหนือจริงที่เธอปรุงออกมาจนรสชาติกลมกล่อมกำลังดี

เสน่ห์ของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้อีกอย่างคือคาแรกเตอร์ตัวละครในแต่ละเรื่องที่ชัดเจน เป็นปัจเจก ไม่ฟูมฟาย ไม่ใช้อารมณ์เปลือง ไม่ว่าจะเป็นเง็ก สาวเดียวดายผู้กลัวฝนที่ใช้ชีวิตโดดเดี่ยวมาตลอดถูกเพื่อนที่มีอยู่เพียงคนเดียวในโลกเลิกคบเพราะรักษาระยะห่างของความสัมพันธ์ไม่เป็น, เน่ สาวครีเอทีฟมาร์เกตติ้งรุ่นใหม่ไฟแรงที่เขียนจดหมายระบายความในใจเรื่องชายในฝันส่งให้คนแปลกหน้าช่วยเป็นพยาน, ชายหนุ่มผู้ถูกแฟนขอเลิกที่สังเกตความสัมพันธ์ขั้นเริ่มต้นของหนุ่มสาวกระเป๋าและกระปี๋บนรถเมล์สาย 82, วีวสุ หญิงสาวที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายหลังจากคิดสะระตะแล้วว่าชีวิตเธอไม่มีค่าต่อใครๆ, หญิงสาวที่ฝังใจในรักวัยเรียนกับเพื่อนรุ่นพี่ที่พบว่าเมื่อเวลาผ่านไปความทรงจำกับความจริงมันคนละเรื่องกัน, หญิงผู้เข้าใจว่ารักแฟนสุดหัวใจแต่เมื่อได้กอดเขาครั้งสุดท้ายกลับพบว่าไม่เหลือใจให้เขาแล้วนอกจากความว่างเปล่า (มีอีกหลายเรื่องต้องอ่านเอง)

แต่ฉันชอบเรื่องสุดท้ายซึ่งมีชื่อเดียวกันกับชื่อเล่มที่สุด นางเอกเป็นคนเย็นชาเพราะมีปูมหลังอันเจ็บปวด ตอนหนึ่งเธอเลือดไหลแต่กลับไม่แสดงความรู้สึก จนกระทั่งมีคนกระทุ้งให้เธอกะเทาะเปลือกใจ ทำนบน้ำตาเธอก็ทะลักไหลพังทะลายไม่เป็นชิ้นดี ความตอนหนึ่งระบุว่า

“ดังนั้น เธอจึงเรียนรู้ที่จะอดทนกับความเจ็บปวด ด้วยการบอกตัวเองว่าไม่เจ็บ ไม่ปวด ทุกครั้งที่ความรู้สึกนี้มาเยือน เธอคิดนึกเอาเสียว่า มันน้อยเกินกว่าที่เธอจะรับรู้ได้ ไม่นานเท่าไหร่ เธอก็ไม่รู้สึกเจ็บปวดกับสิ่งใดๆอีกเลย”

ฉันรู้จักคนแบบนางเอกในเรื่องนี้อยู่บ้าง คนที่สร้างกำแพงเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกทำรบกวนอีก เพราะฝังใจว่ามนุษย์เกิดมาทำร้ายกัน หลายคนใช้ความขัดเคืองเคลือบความอ่อนแอไว้ภายใน แต่เมื่อใดก็ตามที่กดมันไว้ไม่ไหว น้ำตาก็ทะลักไหลราวคลื่นคลั่ง ความอ่อนแอจู่โจมชีวิตแบบโยโย่เอฟเฟกต์ก็ไม่ปาน

ฉันเชื่อประสาคนอ่อนไหวว่าการร้องไห้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย การพยายามเข้มแข็งทั้งที่แทบล้มทั้งยืนต่างหากที่ไม่เข้าท่า หลายครั้งที่อัดอั้น รับมือกับบางเรื่องไม่ไหว หรือแก้ไขปัญหาบางอย่างไม่ตก ฉันจึงเลือกยืนอยู่ฝั่งอ่อนแอ ปล่อยให้น้ำตาทำหน้าที่ของมันไปให้ถึงที่สุด

สำหรับฉันแล้ว น้ำตาคือสิ่งสะท้อนว่าเรายังมีหัวใจ การเจ็บได้ร้องไห้เป็นคือสัญลักษณ์ของความเป็นมนุษย์

ซึ่งแม้ใครจะไม่เข้าใจในทุกหยดน้ำตาที่ไหล, ก็ไม่เห็นจำเป็น

คุยกันตรงนี้เลยค่ะ

You might also like More from author