Spotlight :ทุกปัญหาที่เกิดขึ้น เราทุกคนล้วนมีส่วน

รางวัลออสการ์ Academy Awards ครั้งที่ 88
ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture)  :: Spotlight

……………………………………

หนังเรื่อง Spotlight สร้างจากเรื่องจริงของทีมข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ขุดคุ้ยตีแผ่ความบัดสีของคดีบาทหลวงล่วงละเมิดทางเพศเด็กผู้ชายจนเกิดกรณีปลาเน่าของคริสตจักรในเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งนำเสนอออกมาได้อย่างเข้มข้น กลมกล่อม สนุก และกดดันตั้งต้นจนจบ

ประเด็นศาสนาเปราะบางขนาดไหนใครก็รู้ แต่หนังนำเสนอออกมาอย่างชาญฉลาด ไม่ยัดเยียด ไม่ชี้นำ มันแค่ทำหน้าที่ให้ข้อมูลเพื่อให้คนดูตัดสินเอง ตลอดสองชั่วโมงไม่มีฉากรุนแรงมาเร้าอารมณ์ให้กระพือโหม แต่แปลกที่เรากลับมีอารมณ์ร่วมไปกับหนัง เอาใจช่วยทีมข่าวและเหยื่อแต่ละรายให้ก้าวข้ามฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนมาตลอดชีวิตไปให้ได้ รวมทั้งอยากเห็นจุดจบของตัวต้นเหตุแห่งปัญหา

ในความเห็นส่วนตัวของฉัน, คริสตจักรในเรื่องนี้เป็นตัวแทนของ “สถาบัน” ต่างๆ ไล่ไปตั้งแต่สถาบันที่เล็กที่สุดอย่างสถาบันครอบครัวเรื่อยไปจนถึงสถาบันที่ใหญ่ที่สุดอย่างประเทศชาติ ส่วนการล่วงละเมิดทางเพศในเรื่องเป็นตัวแทนของ “ทุกปัญหา” ในโลกใบนี้ที่ล้วนมี “ผู้อยู่เบื้องหลัง” คอยเขียนบท, ควบคุม และบงการเสมอ

“They control everything.”

They  ในเรื่องคือ คริสตจักร ส่วนในโลกจริงคือผู้มีอำนาจทั้งหลายในทุกสถาบัน

ผู้มีอำนาจเด็ดขาดมักควบคุมทุกอย่างไว้ในมือ เมื่อควบคุมจนชินก็มักเหลิงในอำนาจจนไต่ระดับถึงจุดที่ “แตะต้องไม่ได้” เมื่อแตะต้องไม่ได้อำนาจดังกล่าวก็อนุญาตให้สถาบันที่ว่านั้นเป็น “มาเฟีย” ไปโดยปริยาย, แถมกรณีแบบนี้ไม่ผิดกฎหมายเสียด้วย

ยิ่งปัญหาไหนเกี่ยวข้องกับความศรัทธาของคนด้วยแล้ว ยิ่งสุ่มเสี่ยงต่อการตั้งคำถาม หรือแม้แต่จะคิดสงสัยเงียบๆในใจเรายังกลัวว่ามันจะดังเกินไปเสียด้วยซ้ำ

แน่ละ, หากใครริอาจไปสะกิดหรือตั้งคำถามกับบางเรื่องอาจถูกเช็กบิลโดยไร้สิทธิ์ในการโอดครวญ — ซึ่งเราเห็นกันจนชินตาและใกล้ด้านชาในหัวใจเต็มทน

“มันเป็นแบบนี้มาตลอดใช่ไหม เราทุกคนต่างรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เพราะเรา ‘ขอ’ กันให้หยวนๆ ปัญหามันจึงเรื้อรังแบบนี้”

(ฉันสรุปตามที่เข้าใจเพราะจำได้ไม่หมดทุกคำ) นี่คือบทสนทนาหนึ่งที่ตัวละครในเรื่องคุยกันเมื่อหนังขมวดมาถึงจุดไคลแมกซ์

ฉากนี้ทำให้ฉันอดคิดถึงหลายๆปัญหาในโลกจริงใบนี้ไม่ได้ทั้งเล็กและใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาพ่อข่มขืนลูก, เจ้านายลวนลามลูกน้อง, ครูใช้ความรุนแรงกับนักเรียน, ผู้รักษากฎหมายใช้อำนาจรังแกประชาชน, ชนชั้นบริหารโกงกินประเทศชาติ, ชาติมหาอำนาจปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายทั่วโลก ฯลฯ

วงจรอุบาทว์เหล่านี้ย่อมมีผู้รู้เห็น แต่เพราะเป็นคนกันเองหรือถูกอำนาจที่เหนือกว่ากดอยู่ จึงถูก “ขอ” ให้หยวน ให้แกล้งหูหนวกตาบอด หรือแล้วแต่ใครจะนิยาม มันจึงเรื้อรังเกินเยียวยา

ใช่หรือไม่ว่าทุกปัญหาที่เกิดขึ้น เราทุกคนล้วนมีส่วนสมรู้ร่วมคิดและเพิกเฉย, เราคือส่วนหนึ่งของปัญหา…

 

 

คุยกันตรงนี้เลยค่ะ

You might also like More from author